Month: March 2020

มาตรา 1  แห่งประมวลกฎหมายอาญา

หาทนาย จ้างทนาย เกี่ยวกับ ในประมวลกฎหมายนี้(1) จะทำอย่างไร?
          มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้
        (1) “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
        (2) “ทางสาธารณะ” หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย
        (3) “สาธารณสถาน” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
        (4) “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม
        (5) “อาวุธ” หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ
        (6) “ใช้กำลังประทุษร้าย” หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน
        (7) “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
        (8) “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
        (9) “เอกสารสิทธิ” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ
        (10) “ลายมือชื่อ” หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน
        (11) “กลางคืน” หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
        (12) “คุมขัง” หมายความว่า คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก
        (13) “ค่าไถ่” หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง
        (14) “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า
        (ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใด ทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
        (ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใด ๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) หรือ
        (ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ
        (15) “หนังสือเดินทาง” หมายความว่า เอกสารสำคัญประจำตัวไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่รัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศออกให้แก่บุคคลใด เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและแบบหนังสือเดินทางที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับผู้ถือหนังสือเดินทางด้วย
        (16) “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
        (17) “สื่อลามกอนาจารเด็ก” หมายความว่า วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้  

เจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง


หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องความหมายของการแสดงเจตนาและเจตนาซ่อนเร้นกันไปแล้ว ในครั้งนี้ผู้เขียนจะมาอธิบายถึงการแสดงเจตนาที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมอีกสองรูปแบบด้วยกัน กล่าวคือ เจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้วางหลักเอาไว้ในมาตรา  155 

เจตนาลวง  ถูกวางหลักไว้ในวรรคแรก  เป็นการแสดงเจตนาโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องรู้เห็นเป็นใจในการแสดงเจตนานั้นซึ่งไม่ตรงกับเจตนาอันแท้จริง  เมื่อนิติกรรมเกิดมีขึ้นจากเจตนาลวง  ไม่ได้ต้องการผูกพันอย่างที่ได้แสดงเจตนาออกมานั้น  เท่ากับว่าการแสดงเจตนานั้นย่อมไม่มีผล  ถือว่าเป็นโมฆะ 

การแสดงเจตนาลวงนี้  จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงไม่ได้ 

ตัวอย่างเช่น  นาย A กับนาย B สมรู้เป็นใจกันทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินขึ้นมา  โดยไม่ได้ต้องการจะทำการซื้อขายกันจริง ๆ การแสดงเจตนาลวงนี้จึงมีผลทำให้การทำนิติกรรมซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ  ต่อมาเมื่อนาย B ซึ่งสมรู้เป็นใจกับนาย A นำที่ดินซึ่งทางทะเบียนเป็นชื่อของตนจากการซื้อขายกันอย่างลวง ๆ ไปขายให้กับนาง C เมื่อนาง C ไม่ได้รู้ถึงเจตนาลวงระหว่างนาย A และนาย B เลย และยังเสียเงินซื้อที่ดินผืนนั้นมาอีก นาง C จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงของนาย A กับนาย B ซึ่ง นาย A และนาย B จะยกข้อต่อสู้ที่ว่า “ ไม่ได้ต้องการขายจริง ๆ ตกลงกันไว้แล้วตั้งแต่แรก ” ไม่ได้! กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นของนาง C 


ส่วน นิติกรรมอำพราง ได้ถูกวางหลักไว้ในวรรคสอง  เป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่อปกปิดนิติกรรมอื่น  ผลทางกฎหมายคือให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ  สิ่งสำคัญที่ต้องระวัง  คือ  ในกรณีจะเป็นนิติกรรมอำพราง  ต้องเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมเท่านั้น  หากไม่ใช่นิติกรรมอำพราง นิติกรรมย่อมไม่ถือว่าเป็นนิติกรรมอำพราง 

ตัวอย่างเช่น  ยาย D ต้องการยกที่ดินให้ลูกชายคนสุดท้องของตน  แต่ก็กลัวลูกชายคนโตจะเสียใจ จึงแสร้างทำนิติกรรมซื้อขายกันกับลูกชายคนสุดท้องโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าที่เพื่อปกปิดอำพรางนิติกรรมการให้ระหว่างตนกับลูกชายคนสุดท้อง  เป็นการใช้นิติกรรมซื้อขายอำพรางนิติกรรมการให้ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องนิติกรรมการให้มาใช้บังคับ เมื่อมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เท่ากับว่าที่ดินผืนนั้นเป็นของลูกชายคนสุดท้องโดยนิติกรรมการให้


ความหมายของเจตนาลวงและเจตนาอำพราง  อ้างอิงจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155

เขียนโดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์