เจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง


หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องความหมายของการแสดงเจตนาและเจตนาซ่อนเร้นกันไปแล้ว ในครั้งนี้ผู้เขียนจะมาอธิบายถึงการแสดงเจตนาที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมอีกสองรูปแบบด้วยกัน กล่าวคือ เจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้วางหลักเอาไว้ในมาตรา  155 

เจตนาลวง  ถูกวางหลักไว้ในวรรคแรก  เป็นการแสดงเจตนาโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องรู้เห็นเป็นใจในการแสดงเจตนานั้นซึ่งไม่ตรงกับเจตนาอันแท้จริง  เมื่อนิติกรรมเกิดมีขึ้นจากเจตนาลวง  ไม่ได้ต้องการผูกพันอย่างที่ได้แสดงเจตนาออกมานั้น  เท่ากับว่าการแสดงเจตนานั้นย่อมไม่มีผล  ถือว่าเป็นโมฆะ 

การแสดงเจตนาลวงนี้  จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงไม่ได้ 

ตัวอย่างเช่น  นาย A กับนาย B สมรู้เป็นใจกันทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินขึ้นมา  โดยไม่ได้ต้องการจะทำการซื้อขายกันจริง ๆ การแสดงเจตนาลวงนี้จึงมีผลทำให้การทำนิติกรรมซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ  ต่อมาเมื่อนาย B ซึ่งสมรู้เป็นใจกับนาย A นำที่ดินซึ่งทางทะเบียนเป็นชื่อของตนจากการซื้อขายกันอย่างลวง ๆ ไปขายให้กับนาง C เมื่อนาง C ไม่ได้รู้ถึงเจตนาลวงระหว่างนาย A และนาย B เลย และยังเสียเงินซื้อที่ดินผืนนั้นมาอีก นาง C จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงของนาย A กับนาย B ซึ่ง นาย A และนาย B จะยกข้อต่อสู้ที่ว่า “ ไม่ได้ต้องการขายจริง ๆ ตกลงกันไว้แล้วตั้งแต่แรก ” ไม่ได้! กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นของนาง C 


ส่วน นิติกรรมอำพราง ได้ถูกวางหลักไว้ในวรรคสอง  เป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่อปกปิดนิติกรรมอื่น  ผลทางกฎหมายคือให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ  สิ่งสำคัญที่ต้องระวัง  คือ  ในกรณีจะเป็นนิติกรรมอำพราง  ต้องเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมเท่านั้น  หากไม่ใช่นิติกรรมอำพราง นิติกรรมย่อมไม่ถือว่าเป็นนิติกรรมอำพราง 

ตัวอย่างเช่น  ยาย D ต้องการยกที่ดินให้ลูกชายคนสุดท้องของตน  แต่ก็กลัวลูกชายคนโตจะเสียใจ จึงแสร้างทำนิติกรรมซื้อขายกันกับลูกชายคนสุดท้องโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าที่เพื่อปกปิดอำพรางนิติกรรมการให้ระหว่างตนกับลูกชายคนสุดท้อง  เป็นการใช้นิติกรรมซื้อขายอำพรางนิติกรรมการให้ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องนิติกรรมการให้มาใช้บังคับ เมื่อมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เท่ากับว่าที่ดินผืนนั้นเป็นของลูกชายคนสุดท้องโดยนิติกรรมการให้


ความหมายของเจตนาลวงและเจตนาอำพราง  อ้างอิงจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155

เขียนโดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์

ความหมายของ “เจตนาซ่อนเร้น”


ก่อนจะกล่าวถึง เจตนาซ่อนเร้น ควรมารู้ความหมายของคำว่าเจตนาการแสดงเจตนา  หมายถึง การแสดงออกมาว่าต้องการจะกระทำสิ่งใด  กระทำอย่างไร เมื่อแสดงเจตนาออกมาอย่างไรแล้ว ผลของการแสดงเจตนาก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีการกระทำอันเป็นการแสดง เจตนาออกมานิติกรรมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าผู้ทำนิติกรรมต้องอะไร    

การแสดงเจตนาที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมนั้นมีมากมายหลายกรณีมาก  ซึ่งวันนี้ผู้เขียนขอยกเรื่อง เจตนาซ่อนเร้นมาอธิบายให้ทุก ๆ คนได้ศึกษากันก่อนนะคะ

เจตนาซ่อนเร้น

เจตนาซ่อนเร้น  คือการที่ในใจของผู้แสดงเจตนาไม่ได้ต้องการให้มีผลผูกพันอย่างที่ได้แสดงเจตนาออกมา แต่อาจจะมีเหตุผลหรือสาเหตุที่ทำ ให้ต้องแสดงเจตนาอย่างนั้นออกมาไม่ว่าสาเหตุหรือเหตุผลนั้นจะฟังขึ้นหรือไม่อย่างไรก็ตาม    

ตัวอย่างเช่น  นาย A ต้องการโอ้อวดแฟนสาวรุ่นราวหลานว่าตนเป็นคนที่ร่ำรวยมาก จึงได้พาแฟนสาวไปยังร้านทองทำทีเป็นไปขอซื้อทองคำแท่งมาเก็บไว้ทั้ง ๆ ที่ในใจไม่ได้ต้องที่จะผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมาเลย    

ผลของการแสดงเจตนาซ่อนเร้นนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 ได้วางหลักไว้ว่า  การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆะไม่  

ดังนั้น  เมื่อนาย A แสดงเจตนาออกไปเช่นไรแล้วผลย่อมสมบูรณ์ตามนั้น  ผูกพันตามที่ตนได้แสดงเจตนาออกไป นาย A ต้องยอมรับเอาทองคำแท่งและจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านทอง การแสดงเจตนาออกมาทั้ง ๆ ที่ในใจไม่ต้องการจะผูกพัน ไม่เป็นเหตุให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆะอันจะทำให้นิติกรรมนี้ไร้ผล  

อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ได้วางหลักในเรื่องข้อยกเว้นของเจตนาซ่อนเร้นไว้ในตอนท้ายของมาตราเดียวกันนี้ด้วย กล่าวคือ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ภายในใจของผู้แสดงนั้น   

ดังนั้น หากเจ้าของร้านทองรู้ถึงเจตนาภายในใจของนาย A ว่าไม่ต้องการได้ทองคำแท่งจริง ๆ เพียงแค่ต้องการโอ้อวดแฟนสาวรุ่นราวหลาน การซื้อขายทองคำแท่งครั้งนี้ย่อมเป็นโมฆะ มีผลเท่ากับว่านิติกรรมนี้ไม่มีผลมาตั้งแต่แรก เป็นอันไร้ผล


ความหมายของเจตนาซ่อนเร้น อ้างอิงจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 

ความหมายของการแสดงเจตนา อ้างอิงจาก https://actinthelaw.blogspot.com/p/blog-page_5490.html

เขียนโดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์

บุคคลวิกลจริต ทำนิติกรรมได้ไหม?


นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ดังนั้นการทำนิติกรรมจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบของการทำสัญญาเสมอไป แม้แต่การตกลงซื้อขายน้ำเปล่ากันแค่ 1 ขวด ก็เป็นการทำนิติกรรมระหว่างกันแล้ว

บุคคลวิกลจริต = คนบ้า ?

ในส่วนของบุคคลวิกลจริต ในความเข้าใจของบุคคลทั่วไปเมื่อมาอ่านตัวบทกฎหมายอาจจะพาสับสนได้ บุคคลวิกลจริตคือคนบ้า สติไม่ดี แต่ในทางกฎหมายแบ่งแยกการทำนิติกรรมของบุคคลวิกลจริตไว้ 2 กรณี คือ กรณีที่ศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถซึ่งเรียกว่า บุคคลวิกลจริต และกรณีที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเรียกว่า คนไร้ความสามารถ ซึ่งผลของการทำนิติกรรมก็จะแตกต่างกันไป

ผลของการทำนิติกรรมมีด้วยกัน 3 แบบ คือ สมบูรณ์ โมฆียะ และ โมฆะ สิ่งที่ยากคือการแยกระหว่าง โมฆียะและโมฆะ โมฆียะคือการที่นิติกรรมมีความสมบูรณ์อยู่เรื่อยมาจนกว่าจะถูกบอกล้างหรือบอกเลิก ส่วนโมฆะ คือการที่นิติกรรมนั้นไม่มีผลมาตั้งแต่แรก

มาตรา 30 การใดอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต จะเห็นได้ว่าหากไม่ได้กระทำในขณะที่จริตวิกลอยู่และคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ว่าผู้กระทำ เป็นบุคคลวิกลจริต ผลของนิติกรรมย่อมเป็นสมบูรณ์เสมอ เท่ากับว่ากฎหมายยังเปิดโอกาสให้คนวิกลจริตทำนิติกรรมได้ในขณะที่จิตปกติ

ตัวอย่างเช่น นาง A เป็นคนบ้า วิกลจริต แต่งตัวด้วยชุดนางรำ จัดหนักจัดเต็มอย่างกับนางรำอาชีพ เดินมาป้วนเปี้ยนบริเวณที่มีการจัดพิธีรำแก้บนพอดิบพอดี นาง A เกิดอยากกินลูกชิ้นปิ้ง จึงเดินไปซื้อลูกชิ้นปิ้ง 5 ไม้ แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งก็ขายให้โดยไม่เอะใจอะไร ซึ่งนาง A ก็จ่ายเงินให้ พูดจาดีเหมือนคนปกติทุกอย่าง การทำนิติกรรมซื้อลูกชิ้นปิ้งของนาง A จึงมีผลเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะที่จะทำให้แม่ค้ามีสิทธิบอกล้างนิติกรรมได้ เนื่องจากในขณะซื้อลูกชิ้นปิ้งนาง A ไม่ได้มีอาการวิกลจริตอยู่ และแม่ค้าก็ไม่ได้รู้ว่านาง A เป็นคนวิกลจริต


ความหมายของนิติกรรม อ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 149

เขียนโดย ทค. ฐิติพร เศวตศิลป์

ที่ดินตาบอด


เมื่อพูดถึงที่ดินตาบอด หากเป็นคนในแวดวงด้านอสังหาริมทรัพย์คงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่สำหรับใครหลายคนที่เพิ่งได้มารู้จักคำนี้ อาจสงสัยว่า ที่ดินตาบอดคืออะไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลักษณะแบบไหนคือลักษณะของที่ดินตาบอด มาทำความเข้าใจกับคำว่า “ ที่ดินตาบอด ” กันค่ะ

“ ที่ดินตาบอด ” เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นห้อมล้อมอยู่โดยรอบ ทำให้ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ และเมื่อไม่มีทางออกสู่สาธารณะเจ้าของที่ดินแปลงที่ตาบอดนั้นสามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกสู่สาธารณะได้

ในกรณีที่ที่ดินแปลงนั้น ๆ มีทางออกแต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือที่ชันซึ่งมีระดับที่ดินสูงหรือต่ำกว่าทางสาธารณะกันมาก ก็ให้ถือเสมือนว่าไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ดังนั้นจึงสามารถผ่านที่ดินที่ห้อมล้อมอยู่ได้เช่นกัน

การจะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะได้นั้น ต้องใช้ที่ดินและต้องเลือกวิธีให้พอควรแก่ความจำเป็น  และให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ตามหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรค 3

ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินของนายโชค เป็นที่ดินซึ่งมีที่ดินของคนอื่นล้อมอยู่โดยรอบจนไม่สามารถที่จะออกสู่สาธารณะได้ โดยทางออกสู่สาธารณะที่ใกล้ที่สุดก็คือการผ่านที่ดินของนาย C ออกไปยังแม่น้ำซึ่งมีเรือโดยสารวิ่งผ่านไปมา แต่ถ้าใช้ที่ดินนาย B เป็นทางผ่านออกสู่สาธารณะยังต้องใช้ที่ดินของนาย A ที่ติดกันด้วยจึงจะออกสู่ถนนสาธารณะได้ จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าที่ดินที่จะใช้เป็นทางผ่านออกไปสู่สาธารณะที่พอควรแก่ความจำเป็นและเสียหายน้อยที่สุดคือการผ่านที่ดินนาย C การที่ในแม่น้ำมีเรือโดยสารวิ่งผ่านไปมา ถือว่าเป็นการออกไปสู่สาธารณะแล้วไม่จำเป็นว่าต้องเป็นถนนเท่านั้น และเจ้าของที่ดินซึ่งที่ดินของตนถูกทำทางผ่านออกสู่สาธารณะก็มีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการมีทางผ่านได้ด้วย

ในกรณีที่เป็นที่ดินแปลงใหญ่แต่ถูกแบ่งโอนกันจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะล่ะ ?

กรณีนี้  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ก็ได้วางหลักหลักกฎหมายรองรับเรื่องนี้ไว้เช่นกัน เจ้าของที่ดินตาบอดนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้ แต่เรียกร้องได้เฉพาะที่ดินที่ตนได้แบ่งแยกแบ่งโอนมาและไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  

ตัวอย่างเช่น ที่ดินของนาย E ได้แบ่งแยกแบ่งโอนมาจากที่ดินของนาย D เมื่อแบ่งแยกเสร็จที่ดินของนาย E กลายเป็นที่ดินตาบอด ทั้งนี้ทั้งนั้นนาย E สามารถเรียกร้องเอาทางเดินจากนาย D เพื่อเป็นทางออกสู่สาธารณะได้


นิยามคำว่า “ที่ดินตาบอด” อ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1349 วรรคแรก

เขียนโดย ทค. ฐิติพร เศวตศิลป์