บุคคลวิกลจริต ทำนิติกรรมได้ไหม?


นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ดังนั้นการทำนิติกรรมจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบของการทำสัญญาเสมอไป แม้แต่การตกลงซื้อขายน้ำเปล่ากันแค่ 1 ขวด ก็เป็นการทำนิติกรรมระหว่างกันแล้ว

บุคคลวิกลจริต = คนบ้า ?

ในส่วนของบุคคลวิกลจริต ในความเข้าใจของบุคคลทั่วไปเมื่อมาอ่านตัวบทกฎหมายอาจจะพาสับสนได้ บุคคลวิกลจริตคือคนบ้า สติไม่ดี แต่ในทางกฎหมายแบ่งแยกการทำนิติกรรมของบุคคลวิกลจริตไว้ 2 กรณี คือ กรณีที่ศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถซึ่งเรียกว่า บุคคลวิกลจริต และกรณีที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเรียกว่า คนไร้ความสามารถ ซึ่งผลของการทำนิติกรรมก็จะแตกต่างกันไป

ผลของการทำนิติกรรมมีด้วยกัน 3 แบบ คือ สมบูรณ์ โมฆียะ และ โมฆะ สิ่งที่ยากคือการแยกระหว่าง โมฆียะและโมฆะ โมฆียะคือการที่นิติกรรมมีความสมบูรณ์อยู่เรื่อยมาจนกว่าจะถูกบอกล้างหรือบอกเลิก ส่วนโมฆะ คือการที่นิติกรรมนั้นไม่มีผลมาตั้งแต่แรก

มาตรา 30 การใดอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต จะเห็นได้ว่าหากไม่ได้กระทำในขณะที่จริตวิกลอยู่และคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ว่าผู้กระทำ เป็นบุคคลวิกลจริต ผลของนิติกรรมย่อมเป็นสมบูรณ์เสมอ เท่ากับว่ากฎหมายยังเปิดโอกาสให้คนวิกลจริตทำนิติกรรมได้ในขณะที่จิตปกติ

ตัวอย่างเช่น นาง A เป็นคนบ้า วิกลจริต แต่งตัวด้วยชุดนางรำ จัดหนักจัดเต็มอย่างกับนางรำอาชีพ เดินมาป้วนเปี้ยนบริเวณที่มีการจัดพิธีรำแก้บนพอดิบพอดี นาง A เกิดอยากกินลูกชิ้นปิ้ง จึงเดินไปซื้อลูกชิ้นปิ้ง 5 ไม้ แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งก็ขายให้โดยไม่เอะใจอะไร ซึ่งนาง A ก็จ่ายเงินให้ พูดจาดีเหมือนคนปกติทุกอย่าง การทำนิติกรรมซื้อลูกชิ้นปิ้งของนาง A จึงมีผลเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะที่จะทำให้แม่ค้ามีสิทธิบอกล้างนิติกรรมได้ เนื่องจากในขณะซื้อลูกชิ้นปิ้งนาง A ไม่ได้มีอาการวิกลจริตอยู่ และแม่ค้าก็ไม่ได้รู้ว่านาง A เป็นคนวิกลจริต


ความหมายของนิติกรรม อ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 149

เขียนโดย ทค. ฐิติพร เศวตศิลป์