เจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง


หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องความหมายของการแสดงเจตนาและเจตนาซ่อนเร้นกันไปแล้ว ในครั้งนี้ผู้เขียนจะมาอธิบายถึงการแสดงเจตนาที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมอีกสองรูปแบบด้วยกัน กล่าวคือ เจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้วางหลักเอาไว้ในมาตรา  155 

เจตนาลวง  ถูกวางหลักไว้ในวรรคแรก  เป็นการแสดงเจตนาโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องรู้เห็นเป็นใจในการแสดงเจตนานั้นซึ่งไม่ตรงกับเจตนาอันแท้จริง  เมื่อนิติกรรมเกิดมีขึ้นจากเจตนาลวง  ไม่ได้ต้องการผูกพันอย่างที่ได้แสดงเจตนาออกมานั้น  เท่ากับว่าการแสดงเจตนานั้นย่อมไม่มีผล  ถือว่าเป็นโมฆะ 

การแสดงเจตนาลวงนี้  จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงไม่ได้ 

ตัวอย่างเช่น  นาย A กับนาย B สมรู้เป็นใจกันทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินขึ้นมา  โดยไม่ได้ต้องการจะทำการซื้อขายกันจริง ๆ การแสดงเจตนาลวงนี้จึงมีผลทำให้การทำนิติกรรมซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ  ต่อมาเมื่อนาย B ซึ่งสมรู้เป็นใจกับนาย A นำที่ดินซึ่งทางทะเบียนเป็นชื่อของตนจากการซื้อขายกันอย่างลวง ๆ ไปขายให้กับนาง C เมื่อนาง C ไม่ได้รู้ถึงเจตนาลวงระหว่างนาย A และนาย B เลย และยังเสียเงินซื้อที่ดินผืนนั้นมาอีก นาง C จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงของนาย A กับนาย B ซึ่ง นาย A และนาย B จะยกข้อต่อสู้ที่ว่า “ ไม่ได้ต้องการขายจริง ๆ ตกลงกันไว้แล้วตั้งแต่แรก ” ไม่ได้! กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นของนาง C 


ส่วน นิติกรรมอำพราง ได้ถูกวางหลักไว้ในวรรคสอง  เป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่อปกปิดนิติกรรมอื่น  ผลทางกฎหมายคือให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ  สิ่งสำคัญที่ต้องระวัง  คือ  ในกรณีจะเป็นนิติกรรมอำพราง  ต้องเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมเท่านั้น  หากไม่ใช่นิติกรรมอำพราง นิติกรรมย่อมไม่ถือว่าเป็นนิติกรรมอำพราง 

ตัวอย่างเช่น  ยาย D ต้องการยกที่ดินให้ลูกชายคนสุดท้องของตน  แต่ก็กลัวลูกชายคนโตจะเสียใจ จึงแสร้างทำนิติกรรมซื้อขายกันกับลูกชายคนสุดท้องโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าที่เพื่อปกปิดอำพรางนิติกรรมการให้ระหว่างตนกับลูกชายคนสุดท้อง  เป็นการใช้นิติกรรมซื้อขายอำพรางนิติกรรมการให้ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องนิติกรรมการให้มาใช้บังคับ เมื่อมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เท่ากับว่าที่ดินผืนนั้นเป็นของลูกชายคนสุดท้องโดยนิติกรรมการให้


ความหมายของเจตนาลวงและเจตนาอำพราง  อ้างอิงจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155

เขียนโดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์