ความหมายของ “เจตนาซ่อนเร้น”


ก่อนจะกล่าวถึง เจตนาซ่อนเร้น ควรมารู้ความหมายของคำว่าเจตนาการแสดงเจตนา  หมายถึง การแสดงออกมาว่าต้องการจะกระทำสิ่งใด  กระทำอย่างไร เมื่อแสดงเจตนาออกมาอย่างไรแล้ว ผลของการแสดงเจตนาก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีการกระทำอันเป็นการแสดง เจตนาออกมานิติกรรมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าผู้ทำนิติกรรมต้องอะไร    

การแสดงเจตนาที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมนั้นมีมากมายหลายกรณีมาก  ซึ่งวันนี้ผู้เขียนขอยกเรื่อง เจตนาซ่อนเร้นมาอธิบายให้ทุก ๆ คนได้ศึกษากันก่อนนะคะ

เจตนาซ่อนเร้น

เจตนาซ่อนเร้น  คือการที่ในใจของผู้แสดงเจตนาไม่ได้ต้องการให้มีผลผูกพันอย่างที่ได้แสดงเจตนาออกมา แต่อาจจะมีเหตุผลหรือสาเหตุที่ทำ ให้ต้องแสดงเจตนาอย่างนั้นออกมาไม่ว่าสาเหตุหรือเหตุผลนั้นจะฟังขึ้นหรือไม่อย่างไรก็ตาม    

ตัวอย่างเช่น  นาย A ต้องการโอ้อวดแฟนสาวรุ่นราวหลานว่าตนเป็นคนที่ร่ำรวยมาก จึงได้พาแฟนสาวไปยังร้านทองทำทีเป็นไปขอซื้อทองคำแท่งมาเก็บไว้ทั้ง ๆ ที่ในใจไม่ได้ต้องที่จะผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมาเลย    

ผลของการแสดงเจตนาซ่อนเร้นนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 ได้วางหลักไว้ว่า  การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆะไม่  

ดังนั้น  เมื่อนาย A แสดงเจตนาออกไปเช่นไรแล้วผลย่อมสมบูรณ์ตามนั้น  ผูกพันตามที่ตนได้แสดงเจตนาออกไป นาย A ต้องยอมรับเอาทองคำแท่งและจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านทอง การแสดงเจตนาออกมาทั้ง ๆ ที่ในใจไม่ต้องการจะผูกพัน ไม่เป็นเหตุให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆะอันจะทำให้นิติกรรมนี้ไร้ผล  

อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ได้วางหลักในเรื่องข้อยกเว้นของเจตนาซ่อนเร้นไว้ในตอนท้ายของมาตราเดียวกันนี้ด้วย กล่าวคือ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ภายในใจของผู้แสดงนั้น   

ดังนั้น หากเจ้าของร้านทองรู้ถึงเจตนาภายในใจของนาย A ว่าไม่ต้องการได้ทองคำแท่งจริง ๆ เพียงแค่ต้องการโอ้อวดแฟนสาวรุ่นราวหลาน การซื้อขายทองคำแท่งครั้งนี้ย่อมเป็นโมฆะ มีผลเท่ากับว่านิติกรรมนี้ไม่มีผลมาตั้งแต่แรก เป็นอันไร้ผล


ความหมายของเจตนาซ่อนเร้น อ้างอิงจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 

ความหมายของการแสดงเจตนา อ้างอิงจาก https://actinthelaw.blogspot.com/p/blog-page_5490.html

เขียนโดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์