โดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์
เมื่อหย่ากันแล้ว การแบ่งทรัพย์สินตามกฎหมายจะแบ่งกันอย่างไร?
ก่อนที่จะมีการหย่าเกิดขึ้นนั้นจะต้องมีการสมรสเกิดขึ้นก่อน และการสมรสในทางกฎหมายนั้น ไม่ได้ถือเอางานแต่งงานเป็นเกณฑ์ว่าสมรสแล้วหรือไม่แต่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเกณฑ์ หากมีการจดทะเบียนสมรสเกิดขึ้นเท่ากับว่ามีการสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ทรัพย์สินที่จะแบ่งกันหลังจากมีการหย่าเกิดขึ้น ได้แก่ สินสมรส กับ สินส่วนตัว ซึ่งมีความแตกต่างกัน
สำหรับการหย่าทั้งหย่าโดยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย หรือ หย่าโดยคำพิพากษาของศาลนั้น จะมีผลแตกต่างกันในเรื่องของการแบ่งทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสด้วยนะคะว่าจะแบ่งได้ถึงวันไหน กล่าวคือ ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งสินสมรสตามที่มีอยู่จนถึงวันที่จดทะเบียนหย่า
แต่ถ้าเป็นการอย่าโดยคำพิพากษาของศาล การแบ่งสินสมรสจะมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ( ป.พ.พ. มาตรา 1532 ) ดังนั้น หากหลังจากฟ้องหย่า สามีได้ซื้อที่ดิน 1 ไร่ ที่ดิน 1 ไร่นั้น ถือเป็นสินส่วนตัวของสามีแล้ว ไม่ถือเป็นสินสมรสอันจะต้องแบ่ง
สินสมรสนั้นให้แบ่งได้ส่วนเท่ากัน กล่าวคือ คนละครึ่งนั่นเอง ( ป.พ.พ. มาตรา 1533 )
แต่ถ้าเป็นสินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียว จำหน่ายไปโดยเจตนาให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย จำหน่ายไปโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายในกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องได้รับความยินยอม จงใจทำลายให้สูญหายไป กฎหมายให้ถือเหมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามปกติ และถ้าได้ส่วนแบ่งไม่ครบจำนวน ให้คู่สมรสที่ได้จำหน่ายหรือจงใจทำลายสินสมรส ชดใช้จากสินสมรสของตนหรือสินส่วนตัว ( ป.พ.พ. มาตรา 1534 )
การหย่าไม่ได้เป็นเพียงเหตุแต่เฉพาะการแบ่งสินสมรสกันเท่านั้น หากมีหนี้ที่ต้องรับผิดด้วยกัน เช่น มีหนี้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว กู้เงินมาเพื่อทำธุรกิจของที่บ้าน ก็ต้องแบ่งเท่ากันด้วยเช่นกัน ( ป.พ.พ. มาตรา 1535 )
แล้วถ้ากรณีที่ไม่มีการจะทะเบียนสมรส แต่เป็นแค่การอยู่กินกันฉันสามีภริยาล่ะ ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่กินกัน จะแบ่งกันอย่างไร?
หากเป็นกรณีนี้ ให้ใช้หลักกฎหมายว่าด้วยเรื่อง กรรมสิทธิ์รวมในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยา กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ( ป.พ.พ. มาตรา 1357 ) จึงได้ส่วนแบ่งคนละครึ่งเท่ากัน
ในส่วนของความยินยอมในการทำนิติกรรม ในเรื่องของกรรมสิทธิ์รวมนี้ หากเป็นการจำหน่ายส่วนของตน จำนอง จำนำ หรือก่อให้เกิดภาระติดพัน สามารถทำได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ซึ่งเมื่อนำมาใช้แก่กรณีนี้ ก็หมายความว่า ให้ได้รับความยินยอมจากบุคคลที่ตนอยู่กินฉันสามีภริยากก่อน เท่านั้นเอง เห็นไหมค่ะ ว่าคล้าย ๆ กับกรณีจดทะเบียนสมรสเลยค่ะ
ในปัจจุบัน เพศทางเลือก ( LGBT ) ที่อยู่กินกันไม่สามารถที่จะจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากการจดทะเบียนสมรสถูกกำหนดให้ทำได้เฉพาะแต่ชายกับหญิงเท่านั้น แต่ถือว่าประเทศไทยได้เริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้แล้ว เนื่องจากคนทุกคน เพศทุกเพศ ต่างมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันในการที่จะรักใครหรือสร้างครอบครัวกับใครก็ได้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นชายรักกับหญิง และในขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังจะมีกฎหมายมารองรับค่ะ