การหย่า

โดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์

Effective Date: March 18, 2020

การหย่า สามารถทำได้ 2 วืธี คือ

  1. โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
  2. โดยคำพิพากษาของศาล

        ในกรณีหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายนั้นต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน ( ป.พ.พ. 1514 ) และจะสมบูรณ์เมื่อได้จดทะเบียนหย่า ( ป.พ.พ. มาตรา 1515 )

        แต่หากจะให้ศาลพิพากษา ต้องอาศัยเหตุแห่งการฟ้องหย่า ( ป.พ.พ. มาตรา 1516 )

เหตุฟ้องหย่า มีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ 

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง 

        (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง 

        (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ 

        (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ 

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ 

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ 

        (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ 

        (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ 

(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ 

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ 

(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ 

(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ 

(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการหย่าตาม (1) (2) ถ้าสามีหรือภริยาได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการหย่า ฝ่ายที่ยินยอมหรือฝ่ายที่รู้เห็นเป็นใจจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ ( ป.พ.พ. มาตรา 1517 วรรคแรก )

        ตัวอย่างเช่น สามี ไปสู่ขอหญิงอื่นแต่งงาน ทั้ง ๆ ที่มีภริยาอยู่แล้ว โดยมีภริยาเป็นคนไปสู่ขอหญิงอื่นให้กับสามีของตนด้วย ถือได้ว่าภริยาได้ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจ ภริยาจะอ้างเหตุว่าสามีอุปการะเลี้ยงดูยกย่องผู้อื่นเป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ได้

        ส่วนการหย่าตาม (10) ที่สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล หากเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง จะยกเหตุนี้เป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ได้ ( ป.พ.พ. 1517 วรรคสอง )

        ตัวอย่างเช่น สามีไปเที่ยวสถาณบริการ กลับมาบ้านภริยาโกธรมาก จึงตัดอวัยวะเพศของชายซึ่งเป็นสามีทิ้ง กรณีนี้ภริยาจะอ้างเหตุที่ว่าชายมีสภาพแห่งกายทำให้ไม่สามารถร่วมประเวณีได้อีกเป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ได้

        กรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตาม (8) ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้ ( ป.พ.พ. 1417 วรรคสาม )

        แต่...สิทธิฟ้องหย่า ย่อมหมดไปได้ เมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายแล้ว ( ป.พ.พ. มาตรา 1418 ) หากสิทธิฟ้องหย่าหมดไป ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าในตอนแรกก็ไม่สามารถอ้างเหตุแห่งการฟ้องหย่านั้นได้อีก