โดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก วางหลักไว้ว่า
การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด
ที่ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
คำว่าการกู้ยืมเงินตามมาตรานี้ เห็นได้ว่ากฎหมายใช้คำว่า “ กว่า ” เพราะฉะนั้น ต้องเป็นจำนวนเงินที่มากกว่า 2,000 บาท อาทิเช่น 2,000.01 เป็นต้นไป ข้อสังเกตุคือ ถ้ากฎหมายใช้คำว่า “ ตั้งแต่ ” นั่นแหละ เราถึงจะเอาเงินจำนวน 2,000 เป็นเกณฑ์
สำคัญตรงที่ เราจะเอาเป็นเกณฑ์ในการฟ้องร้องบังคับคดีค่ะ ดังนั้น การกู้ยืมเงินกว่าจำนวน 2,000 ขึ้นไป จึงต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ถ้าไม่มีหลักฐานการยืมเป็นหนังสือก็จะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้
สาเหตุที่กฎหมายต้องให้ลงลายมือชื่อผู้ยืม ก็เพราะว่าผู้ให้ยืมคงไม่ผิดสัญญา จริงไหมคะ
หลักฐานเป็นหนังสือนั้นไม่จำเป็นต้องทำในรูปแบบสัญญาหรือลงลายมือชื่อทั้ง 2 ฝ่ายแต่ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นแค่เขียนใส่กระดาษกันไว้ แต่มีลายมือชื่อผู้ยืม ก็ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้
ตัวอย่าง นาย A ผู้ยืม จะทำการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท จากนาย B มีการพิมพ์รายละเอียดของการกู้ยืมไว้ในกระดาษ ลงลายมือชื่อนาย A ผู้ยืมแล้ว โดยกระดาษเก็บไว้ที่นาย B ต่อมาเมื่อถึงกำหนดที่ต้องชำระเงิน นาย A ไม่ยอมชำระ นาย B จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้
เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ดังนั้นแม้จะตกลงกันด้วยวาจา ก็สามารถฟ้องร้องคดีได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
ปัจจุบัน การยืมเงินผ่านทาง Facebook หรือทาง LINE โดยมีข้อความครบถ้วนว่า ยืมเงินเป็นจำนวนเท่าใด จะใช้คืนเมื่อไหร่ ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นหลักฐานการกู้ยืม โดยกฎหมายให้ถือเอาชื่อ Facebook เป็นการลงลายมือชื่อของผู้ยืมด้วย โดยนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้บังคับประกอบด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วางหลักไว้ว่า ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และ ผู้กู้ยืม ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และ ผู้ให้กู้ยืม ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ
จากหลักในมาตรานี้ แบ่งแยกออกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ
1. กรณีที่ผู้กู้ ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินแทนจำนวนเงิน กรณีนี้กฎหมายให้คิดเป็นหนี้เงิน กล่าวคือหนี้ที่จะต้องชดใช้ตามสัญญาจะยังคงเป็นหนี้เงิน ในส่วนที่ว่าให้คิดเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ให้คิดตามราคาท้องตลาดในเวลานั้น ณ สถานที่ส่งมอบ
ตัวอย่าง นาย A เข้าทำสัญญากู้ยืมเงินจากนาง B ซึ่งไม่ชอบเก็บเงินสดไว้กับตัวแต่ชอบซื้อสร้อยคอทองคำเก็บไว้ที่บ้าน เมื่อนาย A ไปกู้ยืมเงินแต่นาง B ไม่มีเงินให้ นาง B จึงมอบสร้อยคอทองคำให้แทน เมื่อสร้อยคอทองคำที่นาง B มอบให้แก่นาย A นั้นเป็นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท และในวันที่ทำสัญญาราคาทองอยู่ที่บาทละ 24,500 บาท จึงเท่ากับว่าคิดเป็นหนี้เงินได้ 122,500 บาท
2. กรณีที่ผู้ให้กู้ ยอมรับเอาสิ่งของและทรัพย์สินเป็นการชำระหนี้แทนจำนวนเงิน กรณีนี้หนี้ก็จะระงับไป โดยให้คิดจำนวนเงินที่คืนเท่ากับราคาสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้น ในเวลานั้น ณ สถานที่ส่งมอบ
ตัวอย่าง นาย A เข้าทำสัญญากู้ยืมเงินจากนาง B จำนวน 122,500 บาท ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระ นาย A ถอนเงินออกจากบัญชีไม่ได้เนื่องจาก ตู้ ATM หน้าหมู่บ้านเสีย จึงเอาสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาทมาเพื่อขอชำระหนี้แทนหนี้เงิน ในวันนั้นราคาทองอยู่ที่บาทละ 24,500 บาท จึงเท่ากับว่านาย A ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมไปจนครบแล้ว หนี้ตามสัญญาเป็นอันระงับ
ดังนั้น ในการกู้ยืมเงินจึงสามารถเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างคืนแทนจำนวนเงินได้ และถ้าผู้ให้กู้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ หนี้นั้นก็เป็นอันระงับ ( ป.พ.พ.321 ) ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ