E-signature คืออะไร ?

โดย ทค.อภิเชฏฐ์ วงศ์สันติสุข | สำนักงานกฎหมาย เอทีลอว์ แอนด์ บิสซิเนส

Effective Date: January 6, 2020

       ในปัจจุบันโลกมีการปรับเปลี่ยนวิธีการในการติดต่อสื่อสารหากัน โดยอาศัยการพัฒนาการเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาเป็นสื่อกลางเชื่อมต่อทุกคนไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลเข้าด้วยกัน แม้กระทั่งการทำสัญญาก็อาจไม่ได้ทำด้วยกระดาษแบบเดิมอีกต่อไป แต่สามารถทำได้ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การส่ง e-mail การส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ เป็นต้น โดยอาจมีการลงลายเซ็นหรือการลงลายมือชื่อที่ทำในลักษณะที่เป็น Signature หรือ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อสงสัยของใครหลายๆคนก็ คือ กฎหมายยอมรับความสมบูรณ์ของสัญญานั้นหรือไม่? และสัญญาที่ลงลายมือชื่อโดย e-signature นั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่?

การลงลายมือชื่อแบบเดิม

        การลงลายมือชื่อ คือ การยืนยันหรือรับรองเนื้อหาหรือข้อความตามสัญญา และเป็นขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายในหลายเรื่อง เช่น สัญญากู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ที่กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและลายมือชื่อคู่สัญญาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653
        นอกจากการลงลายมือชื่อแล้วตามมาตรา 9 ยังกำหนดให้กิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น โดยลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเดียวกันนั้นลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อได้ แต่ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนโดยให้ถือว่าเสมือนกับการลงลายมือชื่อ
        ดังนั้นจึงอาจตีความได้ว่าลายมือชื่อนั้นต้องมาจากการทำเครื่องหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ปรากฏข้อความหรือภาพลงบนเอกสารในเชิงรูปธรรมที่จับต้องได้เพื่อแสดงว่าตนยืนยันหรือรับรองเนื้อหาหรือข้อความตามเอกสารนั้นๆ

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ e-Signature

        ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2554 ได้กำหนดนิยาม “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” (Electronic Transaction) ไว้ว่า “ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน” ซึ่งธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีขอบเขตที่กว้างกว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เพราะ e-commerce นั้นเป็นเพียงการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ครอบคลุมการซื้อการขายสินค้าและบริการ โดยกระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ว่าธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นหมายรวมถึงกิจกรรมใด ๆ ที่กระทำขึ้นระหว่างหน่วยธุรกิจ บุคคล รัฐ ตลอดจนองค์กรเอกชนหรือองค์กรของรัฐใด ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ การค้า และการติดต่องานราชการ เช่น การซื้อ-ขายสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต, การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, การสมัครสมาชิกผ่านระบบออนไลน์, การตกลงทำสัญญาซื้อ-ขาย หรือสัญญาตกลงตามข้อบังคับต่างๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
        ส่วน “e-Signature” หรือ “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” นั้นหมายถึง การสร้างชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่ว่าจะในรูปแบบ ตัวเลข อักษร เสียง หรือสัญลักษณ์อื่นใด) เพื่อให้แสดงความสัมพันธ์กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของชุดข้อมูลดังกล่าว (เจ้าของลายมือชื่อ) ดังนั้น ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นมานั้นต้องสามารถระบุตัวตนหรือเชื่อมโยงไปยังบุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวได้ โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลเป็นการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือ อีกทั้งยังรับรองการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เสมือนกับการลงลายมือชื่อลงบนกระดาษ ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ประเภทของ e-Signature

       ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สามารถแบ่งลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

01

E-signature แบบทั่วไป

ตามหลักของมาตรา 9 นั้นการลงลายมือชื่อจะต้องใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ซึ่งเป็นหลักเปิดกว้างเพื่อรองรับวิธีการทุกประเภทที่อาจนำมาใช้ในการลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน

  1. เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
  2. เป็นการแสดงถึงความเห็นชอบของบุคคลในการรับรองข้อความที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็น “วิธีการที่เชื่อถือได้” ซึ่งวิธีการที่เชื่อถือได้นั้นอาจพิสูจน์ได้จากพฤติการณ์ที่เหมาะสมและความซับซ้อนของเครื่องมือ ศักยภาพของระบบการติดต่อสื่อสาร ตัวอย่างเช่น การตั้งรหัสเข้าใช้บริการทางการเงิน (รหัส ATM), การป้อนข้อมูล One Time Password (OTP) หรือการกดปุ่ม Ok/Send ใน Email เพื่อส่งหรือยอมรับข้อความต่าง ๆ

02

E-signature ที่เชื่อถือได้

เมื่อใช้เทคโนโลยีตามคุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ให้ถือว่าลายมือชื่อนั้นเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะเป็นลายมือชื่อดิจิทัล (digital signature) และ วิธีการใช้ข้อมูลทางชีวภาพ (Biometrics) ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา 26 ดังนี้

  • เป็นข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เชื่อมโยงไปยังเจ้าของลายมือชื่อโดยไม่เชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่นภายใต้สภาพที่นำมาใช้
  • ในขณะสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของลายมือชื่อโดยไม่มีการควบคุมของบุคคลอื่น
  • การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดแก่ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ นับแต่เวลาที่ได้สร้างขึ้นสามารถจะตรวจพบได้
  • ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นไปเพื่อรับรองความครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ การเปลี่ยนแปลงใดแก่ข้อความนั้นสามารถตรวจพบได้นับแต่เวลาที่ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้อาจยังมีวิธีการอื่นอีกที่แสดงได้ว่าเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ดังนั้นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 26 จึงเป็นการลงลายมือชื่อตามมาตรา 9 และสามารถใช้แทนกันได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 วรรคสอง ก. ถึง ค. อีก

การใช้ e-signature ในปัจจุบัน

        ในปัจจุบัน e-signature ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายเนื่องจากมีกฎหมายที่ให้การรองรับความสมบูรณ์ของนิติกรรมที่ทำโดยลงลายมือชื่อเป็น e-signature หรือแม้กระทั่งหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้นก็มีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของนายทะเบียน โดยใช้เทคโนโลยี Public Key Infrastructure (PKI) ซึ่งถือได้ว่าเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้
       นอกจากนี้ยังมีบริการ e–Certificate ซึ่งเป็นการให้บริการการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเป็นการนำเทคโนโลยี Digital Signature มาใช้ในการออกหนังสือรับรองนิติบุคคล สามารถขอรับหนังสือรับรองนิติบุคคลได้ที่หน่วยงานพันธมิตรของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ โดยการให้บริการ e-Certificate นี้เป็นการสร้างมิติใหม่ในการให้บริการภาครัฐที่สำคัญ เนื่องจากการบริการดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมการให้บริการในรูปแบบใหม่สำหรับการบริการออกหนังสือราชการ และยังเป็นการประสานความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อทุกภาคส่วน

 

        ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการลงลายมือชื่อในปัจจุบันที่เป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-signature) นั้นเป็นสิ่งที่สามารถใช้ยืนยันตัวบุคคลได้เสมือนกับการลงลายมือชื่อบนกระดาษอย่างที่ผ่านมาในอดีต อีกทั้ง e-signature ยังมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยหากดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้การประกอบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ e-signature ได้นั้นยังเป็นการลดการใช้ทรัพยากรกระดาษซึ่งเป็นการส่งเสริมการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย