โดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์
ความตาย เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ เพราะฉะนั้นความตายจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ และสามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ กับใครก็ได้ ดังนั้นมาดูกันค่ะว่าหากคนในครอบครัวเสียชีวิต เราจะต้องทำอะไร มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง
แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยก่อนจะเสียชีวิตจะต้องเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการตายให้ไว้กับญาติเป็นหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบในการแจ้งตายเพื่อขอใบมรณบัตร โดยบุคคลที่มีหน้าที่ในการแจ้งตายในกรณีนี้ ได้แก่ โรงพยาบาลซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าบ้าน หรือ ญาติไปดำเนินการแจ้งการตายแทน โดยระยะเวลาในการแจ้งตายจะต้องทำการแจ้งภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่เสียชีวิต โดยให้แจ้งยังเขตท้องที่นั้น ๆ โดยมีหลักฐานที่ต้องนำไปแสดง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งการตาย บัตรประจำตัวประชาชนของคนตาย ( ถ้ามี ) หนังสือรับรองการตาย ( ทร ๔/๑ ) ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลออกให้ และสำเนาทะเบียนบ้านที่คนตายมีชื่ออยู่ ( ถ้ามี )
ถ้ามีคนเสียชีวิตในบ้าน อย่าเพิ่งเคลื่อนย้ายศพ สิ่งที่ต้องทำ คือ ติดต่อยังบุคคลที่เป็นเจ้าบ้านที่มีการเสียชีวิตให้เป็นผู้มีหน้าที่แจ้งการตาย แต่หากไม่มีเจ้าบ้านก็ให้ผู้พบศพเป็นคนแจ้งตาย ( เจ้าบ้านสามารถมอบหมายคนอื่นแทนได้ ) การแจ้งตายกรณีนี้จะต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาตาย หรือเวลาพบศพ โดยให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่เพื่อขอใบรับแจ้งความ / บันทึกประจำวัน และประสานงานไปทางโรงพยาบาลเพื่อให้มาชัณสูตร ( รับรองสาเหตุของการตาย ) และนำใบรับแจ้งความที่ได้ไปติดต่อสำนักงานเขตเพื่อออกใบมรณบัตร
ในท้องที่อำเภอต่างจังหวัด ให้แจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นผู้ใหญ่บ้านจะออกหลักฐานรับการแจ้งตาย ( ทร 4 ตอนหน้า ) ให้ แล้วค่อยเอาเอกสารนี้ไปแจ้งนายทะเบียนที่เทศบาลเพื่อขอให้ออกใบมรณบัตร
ในเขตเทศบาล และในกรุงเทพ ฯ ให้ไปแจ้งการตายที่งานทะเบียนของสำนักงานเขตเลย ( ไม่มี ทร 4 ตอนหน้า )
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งการตายหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ประจำตัวประชาชนของผู้เสียชีวิต ( ถ้ามี ) ใบรับการแจ้งตาย ( ทร ๔ ตอนหน้า ) ที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้ ( ถ้ามี ) สำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้เสียชีวิตมีชื่ออยู่ ( ถ้ามี ) และพยานบุคคล เช่น เพื่อนบ้าน
แพทย์เจ้าของไข้สามารถออกใบรับรองแพทย์ไว้ให้ก่อนที่จะกลับบ้าน โดยเอกสารดังกล่าวจะยืนยันว่าการตายที่บ้านเป็นการตายโดยธรรมชาติ เอกสารนี้สามารถยื่นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนท้องที่เพื่อออกใบรับแจ้งการตายได้ทันที ( ทร 4 ตอนหน้า ) โดยไม่จำเป็นต้องมีการชันสูตร
เจ้าของบ้านจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชันสูตรศพทำหลักฐานการเสียชีวิต ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแพทย์ยังมิได้ตรวจศพห้ามเคลื่อนย้ายศพ หรือทำให้ศพเปลี่ยนสภาพ หรือนำยามาฉีดศพ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแพทย์ได้ตรวจชันสูตรศพแล้ว ญาติผู้เสียชีวิตจะต้องไปขอหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งขอใบชันสูตรศพจากแพทย์เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นในการขอใบมรณบัตร โดยแจ้งด้วยว่าจะนำศพไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดใด