หากโดนเบี้ยวสัญญาต้องทำอย่างไร

โดย คุณพรพรรณ ญาตินิยม

Effective Date: March 25, 2020

        การทำธุรกิจหรือซื้อขายกันในปัจจุบัน จะมีการทำธุรกรรมบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นการทำธุรกรรมต่อกันนั้นก็จะไม่สมบูรณ์ หรือใช้บังคับแก่กันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมายนั่นเอง การทำธุรกรรมของคุณก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ฟ้องร้องไม่ได้ บังคับคู่สัญญาอีกฝ่ายก็ไม่ได้ เรียกอีกอย่างได้ว่าการทำธุรกรรมนั้น ๆ ก็ฟาล์ว สูญเปล่าไปเลยก็ได้

        ดังนั้นการทำธุรกรรมต่าง ๆ จึงควรทำสัญญากันไว้ เพื่อจะได้สามารถใช้บังคับหรือฟ้องร้องเรียกสิทธิของตนเองได้ตามกฎหมาย แม้ว่าการทำธุรกรรมนั้น ๆ จะไม่มีกฎหมายให้ทำตามแบบก็ตาม แต่การทำสัญญาระหว่างคู่กรณีก็จะเป็นการดีกว่า เพราะเมื่อถึงขั้นที่ต้องฟ้องบังคับกัน เกิดเป็นกรณีพิพาทกันก็จะได้ไม่ต้องสืบพยานต่อศาลให้ยุ่งยาก เพราะอย่างน้อยเราก็มีสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน ซึ่งหากคู่สัญญายอมรับตามเงื่อนไขในสัญญาว่าได้ทำไว้ต่อกัน ก็จะเป็นการง่ายสำหรับการพิจารณาคดีของศาล

        และเมื่อหากโดนเบี้ยวหรือคู่กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ในสัญญา คู่สัญญาสามารถทำอย่างไรได้บ้าง หรือจะต้องดำเนินการอย่างใดต่อไปนั้น ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ดังนี้

เมื่อโดนเบี้ยวสัญญา จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง?

01

        ต้องเช็กข้อกำหนดในสัญญาให้ละเอียดก่อนว่า คู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาใช่หรือไม่ และจะต้องเป็นเรื่องหรือข้อกำหนดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย หากเช็กแล้วปรากฏว่าคู่สัญญาไม่ทำตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ในสัญญาก็ดี ขั้นต่อไปต้องเช็กอีกว่ามีเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะนำสัญญานั้นมาฟ้องได้หรือไม่ เช่น

สัญญากู้ยืมเงิน

        หากเป็นเรื่องสัญญาเงินกู้ จะต้องเช็กว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ที่มีกำหนดชัดเจนหรือไม่ เช่น กำหนดชำระหนี้กันทุกวันสิ้นเดือน แต่เมื่อถึงวันสิ้นเดือนแล้วลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ หรือไม่จ่ายหนี้ตามกำหนด คุณก็สามารถนำสัญญาแห่งการกู้เงินนั้นมาฟ้องร้องต่อศาลได้ทันที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

สัญญาจำนอง

        หากผู้จำนองไม่จ่ายเงินตามที่กำหนดระยะเวลากันเอาไว้ ตามสัญญาจำนองที่ได้ทำไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือที่เราทำกันที่สำนักงานที่ดิน ผู้รับจำนองก็สามารถนำสัญญานั้นไปฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลบังคับจำนองที่ดินแปลงนั้นก็ได้ อีกทั้งยังต้องมีการเตือนให้ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองไม่น้อยกว่า 30 วันก่อน จึงจะสามารถนำสัญญาจำนองนั้นไปฟ้องร้องได้

สัญญาซื้อขาย

        ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ตาม สังหาริมทรัพย์ก็คือสิ่งของที่สามารถเคลื่อนทีได้ เช่น รถยนต์ และอื่น ๆ เป็นต้น เมื่อมีการทำสัญญาแล้วต่อมาภายหลังผู้ซื้อหรือผู้ขายไม่ทำตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา คู่กรณีก็สามารถนำสัญญานั้นไปฟ้องร้องได้ทันที ซึ่งโดยปกติแล้วในสัญญานั้นจะระบุเงื่อนไขการผิดสัญญาให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาคืนทรัพย์นั้น พร้อมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนด้วยก็ได้ โดยค่าสินไหมทดแทนหรือค่าปรับตามที่อีกฝ่ายเรียกร้องในสัญญานั้น ผู้เสียหายสามารถเรียกค่าเสียหายเท่าใดก็ได้ แต่ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงตามส่วนที่เห็นสมควรก็ได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงเห็นว่าที่เสียหายจากการโดนเบี้ยวสัญญา มักจะกำหนดข้อตกลง เบี้ยปรับ หรือเรียกค่าสินไหมทดแทนในจำนวนที่สูง แต่ศาลมักจะสั่งให้จำเลยชดใช้ในราคาที่สมควร เหมาะกับความเป็นจริง หรือเหมาะสมกับความเสียหายตามที่ผู้เสียหานนำสืบได้เป็นหลัก

        ส่วนสัญญาเช่าซื้อ กฎหมายกำหนดว่าจะต้องทำเป็นสัญญา ซึ่งหากเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ก็มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอีกว่าจะต้องค้างส่งติดต่อกัน 3 งวดก่อน จึงจะสามารถฟ้องร้องตามกฎหมายได้ ดังนั้นหากคู่สัญญายังผิดนัดชำระหนี้ไม่ถึง 3 งวดติดต่อกัน ก็จะยังไม่สามารถนำสัญญานั้นไปฟ้องร้องได้  และยังจะต้องเป็นการผิดนัด 3 งวดติดต่อกันด้วย หากเป็นการผิดนัดที่เว้นงวด ไม่ติดต่อกัน ก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิในการฟ้องร้องได้

02

        เมื่อเช็กเงื่อนไขของสัญญาตามกฎหมายแต่ละแบบแล้ว ก็สามารถนำสัญญานั้นไปดำเนินการฟ้องร้องได้ โดยใช้สิทธิทางศาลผ่านทนายความผู้ซึ่งสามารถว่าความได้ตามกฎหมาย จากนั้นจึงมีการยื่นคำฟ้องต่อศาล หากเป็นคดีมีทุนทรัพย์ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์หรือค่าเสียหายที่เรียกร้อง พร้อมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าส่งคำคู่ความ ค่าส่งหมาย ต่าง ๆ เป็นต้น

03

        เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินเรียบร้อยแล้ว หากคู่ความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกา ต่อไปได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นคดีที่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้ ไม่เป็นการต้องห้ามในการอุทธรณ์ ฎีกา นั่นเอง

. . . . .

         เมื่อรู้ตัวว่าโดนเบี้ยวหรือคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง คุณก็ควรปฏิบัติตามลำดับที่กล่าวมานี้ เพื่อการใช้สิทธิทางศาลที่ถูกต้อง และเพื่อเป็นการบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อตกลงโดยใช้อำนาจผ่านทางศาล รวมไปถึงการเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อให้ศาลสั่งให้คู่สัญญาจ่ายได้อีกด้วย