สิทธิเมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิต

โดย คุณฐิติพร เศวตศิลป์

Effective Date: March 16, 2020

        เมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิตและจัดการดำเนินการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว มาดูสิทธิต่าง ๆ ที่อาจเกิดมีขึ้นได้กันค่ะ

        สิทธิที่อาจเกิดมีขึ้นได้คือค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 ซึ่งมีด้วยกัน 4 สิทธิ กล่าวคือ สิทธิในการเรียกร้องค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็น สิทธิในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ และสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู

        เพราะฉะนั้น หากมีการตายเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวและการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะมีคนทำให้เกิด เช่น ขับรถชน สิ่งที่เราจะเรียกได้นั้นก็คือ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการทำศพ สิ่งสำคัญคือต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นเราไม่สามารถเรียกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้นะคะ  

        ซึ่งกรณีนี้ บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤตินัยแล้ว ก็สามารถที่จะเรียกค่าปลงศพได้ แต่หากบุตรที่บิดารับรองโดยพฤตินัยตาย บิดาไม่สามารถที่จะเรียกร้องค่าปลงศพได้ค่ะ  

การรับรองโดยพฤตินัย เช่น การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา ให้ใช้นามสกุล บอกคนอื่นว่าเป็นบุตร เป็นต้น  

        หากผู้ตายไม่ตายในทันที สิ่งที่เราจะเรียกได้ก็คือ ค่ารักษาพยาบาลที่ต้องเสียไป เช่น ค่าห้องพักผู้ป่วย ค่ายา ค่าวิชาชีพหมอ และค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ กล่าวคือ ขาดรายได้ในวันนั้น ๆ เนื่องจากไม่ได้เข้าทำงาน และต้องเป็นรายได้ที่ได้เงินมาจริง ๆ ด้วยค่ะ 

        และถ้าการตายนั้น ทำให้บุตร สามี หรือภริยา ขาดไร้อุปการะ บุคคลนั้นสามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ด้วย 

หากบิดามารดาตาย

บุตรผู้มีสิทธิเรียกได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและยังไม่บรรลุนิติภาวะ ( ผู้เยาว์ )

บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดา

คือ เด็กที่เกิดจากหญิง ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ เด็กที่เกิดมาเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงเสมอ

บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

โดยหลักแล้ว หากชายและหญิงสมรสกัน เด็กที่เกิดมาย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายด้วยเช่นกัน แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส เด็กจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้เพียง 3 กรณีนี้เท่านั้น คือ

  1. บิดาและมารดาของเด็กได้ไปจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง
  2. บิดาและมารดาพร้อมกับเด็กได้ไปจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร ซึ่งในกรณีนี้มารดา และเด็กจะต้องให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนได้ เด็กจะต้องมีอายุตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไปและสามารถให้ความยินยอมได้ ( สามารถตอบคำถามเจ้าพนักงานได้ ) โดยสามารถไปติดต่อขอจดทะเบียนรับรองบุตรได้ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ
  3. บิดาหรือมารดาหรือเด็กฟ้องคดีต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาว่าเป็นบิดาหรือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

หากบุตรตาย

บิดามารดาสามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะนี้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุของบุตร เพราะเป็นการคาดคะเนไปก่อนล่วงหน้าว่า หากโตขึ้นมาก็จะต้องทำงานเลี้ยงบิดามารดา แม้จะไม่ได้ทำงานจริง ๆ ตอนนี้ก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้สามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้

เนื่องจาก ป.พ.พ. ได้กำหนดหน้าที่ไว้ กล่าวคือ ให้สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์