การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์

โดย ทค.อภิเชฏฐ์ วงศ์สันติสุข | สำนักงานกฎหมาย เอทีลอว์ แอนด์ บิสซิเนส

Effective Date: November 1, 2019

ทําไมต้องมีการรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ ?

          การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ คือ มาตรการที่กําหนดขึ้นเพื่อป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางทหาร และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เพื่อให้สามารถจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที จึงได้มีการกำหนดกฎหมายขึ้นมา ชื่อว่า พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 นั้นเอง
          การตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติไว้ว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

คณะกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

          1. คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เรียกย่อๆ ว่า กมช. และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า National Cyber Security Committee เรียกโดยย่อว่า NCSC มีหน้าที่กําหนด เสนอ จัดทําแผนปฏิบัติ กําหนดมาตรการและแนวทางต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.
          2. คณะกรรมการกํากับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรียกย่อๆ ว่า กกม. มีหน้าที่กํากับดูแลการดําเนินงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ และการเผชิญเหตุและนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ รวมถึงกําหนดระดับของภัยคุกคามทางไซเบอร์พร้อมทั้งรายละเอียดของมาตรการป้องกัน

การพิจารณาเพื่อใช้อํานาจในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ คณะกรรมการกํากับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะเป็นผู้กําหนด

กล่าวโดยสรุปเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้

          ในปัจจุบันเมื่อการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนั้นเพื่อให้สามารถจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที ทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนจะต้องมีมาตรการรับมือจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่างๆ ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม

ลักษณะของภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ

01

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับไม่ร้ายแรง

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับที่ทําให้ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสําคัญของประเทศหรือการให้บริการของรัฐด้อยประสิทธิภาพลง

02

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับที่มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีผลทําให้ระบบคอมพิวเตอร์หรือโครงสร้างสําคัญทางสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานสําคัญของประเทศเสียหายจนไม่สามารถทํางานหรือให้บริการได้

03

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติที่มีลักษณะล้มเหลวทั้งระบบ จนรัฐไม่สามารถควบคุมการทํางานจากส่วนกลางของระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐได้ หรือทําให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน 

          " โดยการรับมือและบรรเทาความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กกม. มีอํานาจออกคําสั่งเฉพาะเท่าที่จําเป็นเพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นตรวจสอบคอมพิวเตอร์และประเมินผลกระทบ รักษาสถานะของข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการใดๆ เพื่อดําเนินการทางนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์  ส่วนด้านการป้องกันและรับมือ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบสถานที่โดยมีหนังสือแจ้งถึงเหตุอันสมควรเข้าถึงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ไปจนถึงยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ต่อไป "